PRP (Platelet Rich Plasma) คืออะไร?
Cr : ขอขอบคุณข้อมูลจากเว็บไซต์ของโรงพยาบาลนครธน
ปัจจุบันการทำ PRP (Platelet Rich Plasma) เป็นนวัตกรรมที่นิยมอย่างมาก เพราะสามารถนำมาใช้ทางการแพทย์ได้หลากหลาย อาทิ ในวิทยาศาสตร์การกีฬา การฉีด PRP จะช่วยให้อาการบาดเจ็บของนักกีฬาหายเร็วขึ้น แพทย์ด้านกระดูกและข้อ ใช้ PRP ช่วยให้กระดูกติดเร็วขึ้น แม้กระทั่งแพทย์ผิวหนังก็ยังใช้ PRP เพื่อให้ผิวหน้ากระจ่างใส กระชับรูขุมขน กระตุ้นการสร้างเนื้อเยื่อและคอลลาเจน รวมไปถึงการฉีดบริเวณศีรษะเพื่อบรรเทาอาการผมร่วง ผมบาง เป็นต้น ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาและฟื้นฟูเซลล์จากภายในโดยใช้เกล็ดเลือดของตัวเอง เป็นการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ และมีความปลอดภัยสูง
ทำความรู้จัก PRP
PRP (Platelet Rich Plasma) คือ การรักษาบนพื้นฐานของกระบวนการรักษาตัวเองตามธรรมชาติของมนุษย์ เป็นสารที่ได้จากการนำเลือดของตัวเองมาปั่นแล้วฉีดกลับเข้าไป โดยผ่านกรรมวิธีการเฉพาะในการปั่นเพื่อแยกชั้นของพลาสมา (Plasma) ซึ่งมีลักษณะเป็นสีเหลืองใสออกมา โดยในพลาสมาประกอบด้วยเกล็ดเลือด ซึ่งแพทย์จะสกัดเอาเกล็ดเลือดจากชั้นนี้ซึ่งมีความเข้มข้นสูงที่สุดมาใช้ เพราะในเกล็ดเลือดประกอบด้วยสารต่างๆ ที่ช่วยในการแข็งตัวของเลือด รวมไปถึงสารกระตุ้นการเจริญเติบโต (Growth Factor) ซึ่งเป็นกลุ่มโปรตีนประเภทหนึ่งที่มีอยู่ในร่างกายของสิ่งมีชีวิต มีหน้าที่ไปกระตุ้นให้เซลล์มีการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนมากขึ้น ทำให้เซลล์เหล่านั้นมีการเพิ่มจำนวนและซ่อมแซมตัวเองเกิดขึ้นนั่นเอง
โดยเกล็ดเลือดถือเป็นปัจจัยสำคัญในกลไกการซ่อมแซมเนื้อเยื่อ โดยมี Growth Factor ที่จำเป็น เช่น FGF, PDGF, TGF-ß, EGF, VEGF, IGF ซึ่งมีบทบาทในการกระตุ้น Stem cell ให้เกิดการสร้างเนื้อเยื่อใหม่ นอกจากนี้ เกล็ดเลือดยังกระตุ้นการทำงานของ Fibroblasts (เซลล์สร้างคอลลาเจน) และ Endothelial cell (เซลล์เยื่อบุผนังหลอดเลือด) อีกด้วย
นอกจากนี้ในน้ำพลาสมาจะมีสารอาหาร วิตามิน ฮอร์โมน เกลือแร่ Growth factors ที่สำคัญ และโปรตีนที่จำเป็นต่อการอยู่รอดของเซลล์โดยพลาสมาโปรตีนจะช่วยในกระบวนการแข็งตัว (Coagulation) และการสร้างร่างแหไฟบรินเพื่อให้เกิดการสร้างเนื้อเยื่อใหม่
ขั้นตอนการทำ PRP (Platelet Rich Plasma)
การทำ PRP (Platelet Rich Plasma) จะมีอุปกรณ์ในการทำได้แก่ อุปกรณ์เจาะเลือด หลอดใส่เลือดหรือเรียกว่า Tube และเครื่องเหวี่ยงสาร (Centrifuge) โดยมีขั้นตอนดังต่อไปนี้
1.เจาะเลือดจากข้อพับ ประมาณ 8-10 ซีซี
2.นำเลือดใส่ในหลอดใส่เลือด หรือเรียกว่า BCT Tube (Blood Cell Therapy) เป็น tube ที่มี Anti-Coagulant หรือสารต้านการแข็งตัวของเลือด โดยใช้เป็น Sodium Citrate (โซเดียมซิเตรท) ซึ่งบรรจุมาในหลอดเรียบร้อยแล้ว และมีค่า pH = 7 มีค่าเป็นกลาง ทำให้ปลอดภัยไม่กระทบต่อคุณภาพของเกล็ดเลือดและไม่เกิดอาการแสบขณะฉีด
3.นำเลือดมาปั่นเพื่อสกัดผ่านเครื่องเหวี่ยงสาร (Centrifuge) เพื่อให้ได้เกล็ดเลือดที่มีความเข้มข้นและมี Growth Factor สูง
4.แยกเกล็ดเลือดที่สมบูรณ์และเข้มข้นออกมา (PRP)
5.ฉีดเกล็ดเลือด PRP กลับเข้าไปสู่ส่วนต่างๆ ที่ต้องการทำการรักษาและฟื้นฟู เช่น ผิวหน้า บริเวณศีรษะ เป็นต้น
PRP (Platelet Rich Plasma) เหมาะกับใคร ช่วยรักษาอะไรบ้าง?
PRP อุดมไปด้วยโปรตีนที่ช่วยในการกระตุ้นเซลล์ให้เกิดการซ่อมแซม กระตุ้นการหายของแผล ลดการอักเสบ กระตุ้นการสร้างเส้นใยคอลลาเจน รวมไปถึงการสร้างเซลล์ผิวใหม่ เซลล์ผิวที่เสื่อมสภาพให้กลับมาดีขึ้นอีกครั้ง โดยสามารถช่วยรักษาทั้งผิวหน้า และปัญหาผม ดังนี้
PRP รักษาผิวหน้า แก้ปัญหาผู้ที่มีความยืดหยุ่นของผิวน้อย มีรอยคล้ำใต้ตา มีร่องแก้ม รวมไปถึงผู้ที่มีปัญหาเรื่องริ้วรอยตามส่วน ต่างๆ ของใบหน้า ทั้งหน้าผาก หว่างคิ้วหรือหางตา ผิวหย่อนคล้อย ผู้ที่มีแผลเป็น เป็นสิว รอยดำจากสิว ฝ้า กระ ผิวหน้าแห้งกร้าน
PRP รักษาปัญหาผม แก้ปัญหาผมร่วง ผมบาง ด้วยการชะลออาการผมร่วง บำรุงเซลล์รากผมให้แข็งแรง และกระตุ้นการเกิดใหม่ของเส้นผม
ทำกี่ครั้งถึงจะเห็นผล?
ความเหมาะสมของแพทย์ เพื่อให้ได้การรักษาที่มีประสิทธิภาพและผลลัพธ์ที่ดีที่สุด ทั้งนี้ผลของการรักษาก็ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล อายุ ความหนักเบาของอาการ รวมถึงการดูแลตัวเองหลังการรักษาร่วมด้วย
การทำ PRP (Platelet Rich Plasma) มีความปลอดภัยสูง ทำให้ความเสี่ยงในการเกิดอาการแพ้เกิดขึ้นได้น้อยมาก เนื่องจากไม่ใช่สารสังเคราะห์ แต่เป็นเกล็ดเลือดที่สกัดมาจากเลือดของตัวเอง อาจมีผลข้างเคียงเล็กน้อยหลังการฉีด เช่น ปวดบริเวณที่ฉีด หรือมีรอยฟกช้ำเล็กน้อย สามารถหายได้เองภายในระยะเวลาประมาณ 2-3 วัน เป็นการรักษาที่ไม่ต้องผ่าตัด ไม่ต้องพักฟื้น ไม่มีรอยแผล และเห็นผลได้อย่างชัดเจน
ฉีดบำรุงเส้นผมด้วย PRP (Platelet Rich Plasma) ดียังไง?
จากการศึกษาพบว่า PRP อาจช่วยแก้ปัญหาผมร่วงหรือผมบางได้ จากคุณสมบัติต่อไปนี้
ทำให้รากผมแข็งแรง ช่วยลดการหลุดร่วงของเส้นผม
กระตุ้นการเจริญของเส้นผมที่เซลล์รากผม ช่วยทำให้เส้นผมมีลักษณะที่หนาขึ้น
เพิ่มจำนวนเซลล์รากผม ช่วยลดปัญหาผมบาง
ผมร่วงมากแค่ไหน เข้าข่ายผิดปกติ?
โดยปกติเส้นผมของคนเรา สามารถหลุดร่วงได้ประมาณ 50-100 เส้น หรืออาจร่วงได้มากถึง 200 เส้น ในวันที่สระผม ดังนั้นหากมีผมร่วงระหว่างวัน ครั้งละมากกว่า 100 เส้นนั้น ถือว่าผิดปกติ หรือหากผมหลุดร่วงเกินกว่า 200 เส้นในวันที่สระผม หรือมีผมร่วงเป็นหย่อม ขนาดเท่าเหรียญสิบ ก็ถือเป็นภาวะผมร่วงเช่นกัน
ผมเสีย ผมอ่อนแอ ขาดง่าย มักเกิดในช่วงที่มีการลดน้ำหนักแบบเร่งด่วน เพราะร่างกายขาดสารอาหารจำเป็นสำหรับการหล่อเลี้ยงเส้นผม ทำให้เส้นผมเปราะ ผมแห้ง เส้นผมขาดง่าย
ผมเสียเป็นยังไง?
สังเกตง่ายๆ ว่าสภาพผมเสีย จะมีลักษณะเส้นผมแห้งสาก หากลองลูบผมย้อนขึ้น แล้วผมไม่ลื่น หรือลองดึงผมออกมาสักเส้น หากเส้นผมขาดออกจากกันง่าย ไม่มีความยืดหยุ่น อาจเป็นลักษณะผมเสีย แล้วผมเสียแก้ยังไง? ในเบื้องต้น ควรหลีกเลี่ยงการกัดสีผม หรือทำสีผมบ่อยๆ เพราะน้ำยาเคมีจะเข้าไปทำลายโปรตีนในเส้นผม ทำให้ผมแห้ง ผมหยาบกระด้าง ขาดความชุ่มชื้น ผมเสีย ขาดหลุดร่วงได้ง่าย นอกจากนี้การสระผมบ่อยเกินไปก็อาจทำลายน้ำมันในเส้นผม หรือการหวีผมมากเกินจำเป็น ก็อาจทำให้ผมร่วงและแตกปลายได้ง่าย
ควรฉีด PRP (Platelet Rich Plasma) บ่อยแค่ไหน? มีข้อจำกัดเรื่องปริมาณในการฉีดหรือไม่?
ในช่วงแรก แนะนำการทํา PRP ผมเดือนละ 1 ครั้ง ต่อเนื่องกัน 3 เดือน โดยคนไข้สามารถสังเกตความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นได้ตั้งแต่ครั้งแรกที่รับบริการ ไม่มีข้อจำกัดในการฉีด เพราะการทํา PRP ผม สามารถทำได้ทุก 2 สัปดาห์โดยไม่ส่งผลข้างเคียง และมีความปลอดภัยต่อสุขภาพร่างกาย ซึ่งในแต่ละครั้งจะมีการประเมินและวางแผนอย่างละเอียดโดยแพทย์เฉพาะทาง เพื่อกำหนดปริมาณการฉีดในแต่ละครั้งที่เหมาะสมกับปัญหาของคนไข้แต่ละเคสมากที่สุด
ผมร่วงเยอะมากต้องกินอะไร?
คุณหมอแนะนำให้รับประทานอาหารครบ 5 หมู่ ป้องกันร่างกายขาดสารอาหาร โดยเน้นโปรตีน สังกะสีและธาตุเหล็ก
โปรตีนอย่างเคราติน (Keratin) เป็นส่วนประกอบหลักของโครงสร้างเส้นผม จึงควรรับประทานโปรตีนให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย เพื่อช่วยบำรุงเส้นผมให้แข็งแรงและสุขภาพดี ช่วยลดการหลุดร่วงของเส้นผม
สังกะสี (Zinc) เป็นแร่ธาตุที่มีส่วนช่วยในการเจริญเติบโตของเส้นผมและเล็บ ทำให้ผมแข็งแรง งอกใหม่ได้ดีขึ้น และยังช่วยควบคุมการทำงานของต่อมไขมันบนหนังศีรษะ หากไขมันที่ขับออกมามีความสมดุล จะช่วยลดความเสี่ยงของการภาวะผมร่วงได้
ธาตุเหล็ก (Iron) ช่วยกระตุ้นให้เลือดไปเลี้ยงเส้นผมและหนังศีรษะได้ดี การรับประทานอาหารที่ประกอบด้วยธาตุเหล็กเป็นประจำ จะช่วยให้เส้นผมแข็งแรง ไม่ลีบแบน และไม่หลุดร่วงได้ง่าย
ปรับพฤติกรรม สระผมให้ถูกวิธี ช่วยลดผมร่วง
การสระผมที่ถูกวิธี ขั้นแรกเริ่มจากการล้างหนังศีรษะให้สะอาดด้วยน้ำเปล่า นาน 30 วินาทีขึ้นไป เพื่อชำระล้างสิ่้งสกปรกที่สะสมบนหนังศีรษะและเส้นผม จากนั้นบีบแชมพูลงบนฝ่ามือ (ไม่บีบแชมพูลงบนศีรษะโดยตรง เพราะการขยี้แชมพูกับเส้นผม จะทำลายเคราตินที่อยู่ชั้นนอกของเส้นผม ทำให้ผมขาด หลุดร่วงได้ง่าย) ตีจนเกิดฟองแล้วค่อยชโลมและนวดวนให้ทั่วศีรษะ ไม่เกาหนังศีรษะแรงๆ หลังจากนั้นล้างฟองออกจนเกลี้ยง โดยใช้วิธีก้มลง ล้างจากท้ายทอย ลดการตกค้างของแชมพูบริเวณท้ายทอย ซึ่้งเป็นบริเวณที่มักมีการสะสมตกค้างมากที่สุด หลังจากสระผมเสร็จเรียบร้อย ควรเป่าผมให้แห้งภายใน 5 นาที เพราะความเปียกชื้น ก่อให้เกิดแบคทีเรียบนหนังศีรษะ จนอาจทำให้หนังศีรษะอักเสบ นำไปสู่ภาวะผมร่วงได้
หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์กลุ่มซิลิโคน
ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมและหนังศีรษะที่มีซิลิโคนเป็นส่วนประกอบ โดยซิลิโคนที่นิยมใช้ เช่น Dimethicone ช่วยให้ผมเรียบลื่นและเพิ่มความเงางามให้กับเส้นผม หรือ Amodimethicone ที่มักพบในครีมนวด เมื่อใช้ไปนานๆ สารซิลิโคนกลุ่มนี้จะสะสมและอุดตันในรูเส้นผม ทำให้หนังศีรษะขับของเสียและดูดซึมสารอาหารได้น้อยลง จนทำให้ผมเสีย เส้นผมลีบแบน และหนังศีรษะเป็นมันเยิ้ม
การดูแลเส้นผมหลังรักษาด้วย PRP (Platelet Rich Plasma)
แม้การรักษาด้วย PRP จะไม่ต้องผ่าตัด แต่หลังการรักษาควรเลี่ยงการโดนน้ำ 1 วัน ห้ามสระผม งดใช้เจล น้ำมัน แว็กซ์ สเปรย์จัดแต่งทรงผม งดอาหารที่มีไขมันสูง งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ งดบุหรี่ และในช่วงสัปดาห์แรกให้ใช้ยาสระผมสูตรอ่อนโยน ในขณะที่สระก็ไม่ควรนวด หรือเกาแรงเกินไป
จริงๆ แล้วนวัตกรรมการปลูกผมมีหลายวิธี แต่จุดเด่นของการทำ PRP อยู่ที่ไม่ต้องผ่าตัด ปลอดภัย ใช้เวลาพักฟื้นไม่นาน และควรทำต่อเนื่องมากกว่า 3 ครั้งขึ้นไปจึงจะเห็นผลที่ชัดเจน ทั้งนี้ ผลลัพธ์ที่ได้ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล ด้วยเหตุนี้ทำให้การทำ PRP เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจ
ทำโปรแกรมPlatelet Rich Plasma ที่ไหนดี?
- เช็คเลขที่ใบอนุญาต 11 หลัก คลินิกที่ผ่านการรับรอง ต้องแสดงใบอนุญาตในบริเวณที่สามารถสังเกตได้ชัดเจน
2. เช็คคลินิกที่ได้มาตรฐาน ผ่านช่องทางของสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ สายด่วน 1426 หรือโทร : 02-1937000
3. เช็คความน่าเชื่อถือของคลินิกจากรีวิวบนแพลตฟอร์มออนไลน์ หน้าเว็บไซต์และช่องทาง Official Page ของคลินิก
4. คลินิกที่ดีควรมีการดูแลและติดตามผลหลังฉีด
5. เช็คชื่อคุณหมอในคลินิก หมอต้องมีตัวตนอยู่จริง สามารถเช็คจากฐานข้อมูลแพทยสภา Website: checkmd.tmc.or.th หรือโทร 0 2193 7000
6. โปรโมชั่นและราคาสมเหตุสมผล ไม่แอบอ้างสรรพคุณเกินจริง